วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แนวโน้มและโอกาสในการพัฒนา นาโนอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย

นาโนเทคโนโลยี หรือเทคโนโลยีในการควบคุมและผลิตสรรพสิ่งด้วยความแม่นยำ ระดับ อะตอมนี้กำลังคืบคลานเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของเราอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเทคโนโลยีระดับนาโนกำลังจะเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ หรือแม้แต่อาหารที่เรารับประทาน ซึ่งเทคโนโลยีทางด้านนี้ก็แบ่งออกเป็นหลายสาขา และสาขาที่มีนักวิจัยให้ความสนใจค่อนข้าง สูงคือนาโนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความชัดเจน อีกทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายสาขา

อนาคตนาโนฯ จะรุกคืบชีวิตประจำวัน

นาโนเทคโนโลยีจะเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมโลกในด้านต่างๆ ที่น่าจะติดตามในหลายๆ ด้าน เช่น ตัวรับ (Sensor) ขนาดเล็กในระบบสื่อสาร โทรคมนาคม การออกแบบโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย การเคลือบให้วัสดุมีความทนทานต่อการสึกกร่อน หรือย่อยสลาย การผลิตสารเคมีที่มีขนาดเล็กมาก ซึ่งมีความหนืดหรือคุณสมบัติพิเศษในด้านต่างๆ

ทั้งยังช่วยในการวัดอัตราการเกิดปฏิกิริยาของยาสารเคมี หรือตัวเร่งปฏิกิริยาได้แม่นยำ ตรวจสอบบริเวณ ที่เกิดปฏิกิริยาอย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันก็ต้องมีการพัฒนาศาสตร์ที่จะรองรับเทคโนโลยีด้วย เช่น มาตรวิทยา เพื่อการกำหนดมาตรฐานความยาว น้ำหนัก ปริมาตร ต่อความถูกต้องแม่นยำ ซึ่งนาโนเทคโนโลยีน่าจะมีบทบาทที่สำคัญในด้านต่างๆ คือ นาโนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมรถยนต์ นาโนเทคโนโลยีต่อพลังงาน สุขภาพและ วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับชีวิต และสังคม

นาโนเทคโนโลยีผลิกโฉมวงการอิเล็กทรอนิกส์

นับตั้งแต่มีการพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยีโดยเฉพาะ ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ เรียกว่า นาโนอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดการพัฒนาของวงการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ถึงแม้ว่าโดยพื้นฐานแล้วส่วนใหญ่อุตสาหกรรมในบ้านเราเป็นการรับจ้างผลิต โดยมิได้เป็นเจ้าของยี่ห้อสินค้าเอง แต่การพัฒนาความรู้ทางด้านนี้ยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งกับประเทศไทย เนื่องจากเป็นสาขาที่สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายอุตสาหกรรม

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กล่าวถึงเรื่องของนาโนอิเล็กทรอนิกส์ว่า การปฏิวัติวงการอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิธีการแบบเดิม คือ สร้างวงจรอิเล็กทรอนิกส์บน Solid State Semi- conductor ไปสู่การสร้างวงจรอิเล็กทรอนิกส์ด้วยโมเลกุล (Molecular Electronics) อิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่นี้ จะต้องมีการทำงานในระดับโมเลกุลเลยทีเดียว และอุปกรณ์ แต่ละตัวจะเป็นแบบอิเล็กตรอนเดียว (Single Electron Devices)

การปฏิวัติดังกล่าวนี้คาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 10 ปีนี้เพื่อให้มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นทดแทนก่อนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะไปถึงจุดอับ จริงๆ แล้วการที่จะไปสู่ เป้าหมายดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ระยะยาวเลยทีเดียว เพราะว่ายังไม่มีใครรู้ว่ารูปแบบที่อิเล็กทรอนิกส์เชิงโมเลกุลสุดท้ายนั้นจะมีหน้าตาอย่างไร เหตุนี้ปัจจุบันจึงมีผู้เสนอ แนวทางแบบต่างๆ มากมาย

อุปกรณ์ที่เป็นระบบไฟฟ้าเครื่องกลจุลภาคจะมีขนาดจิ๋ว เพื่อการพาณิชย์

ในปัจจุบันเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าเครื่องกลจุลภาคได้รับความสนใจและก้าวล้ำไปอย่างมากทั่วโลกเนื่องมาจากความต้องการอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็ก สมรรถนะสูง และ ราคาถูกในหลายๆ อุตสาหกรรม ผลพวงจากเทคโนโลยีการผลิตวงจรรวมที่พัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1970 ทำให้การสร้างอุปกรณ์ทางกลที่มี ขนาดเล็กในระดับที่สามารถบรรจุอยู่ในชิปมาตรฐาน(Microchip) เป็นไปได้ในปัจจุบัน การสร้างอุปกรณ์ไฟฟ้าเครื่องกลจุลภาคอาศัยเทคนิคการปลูกสาร, การกัดกำจัด, และการสร้างรูปแบบโดยการใช้เทคนิคโฟโตลิโทรกราฟี่

ระบบไฟฟ้าเครื่องกลจุลภาคไม่เป็นเพียงแค่การทดลองวิจัยเท่านั้น แต่นำมาใช้ในการผลิตอุปกรณ์เชิงพาณิชย์มากมายหลายตัวอย่าง เช่น ในอุตสาหกรรมยานยนต์ มีอุปกรณ์วัดค่าความเร่ง ใช้ในรถยนต์ทุกคัน เพื่อควบคุมการปล่อยถุงลมนิรภัย, อุปกรณ์วัดความดันใช้ในเครื่องยนต์และยางล้อรถยนต์ ในระบบสื่อสารทางแสง มีอุปกรณ์สวิตช์ชิ่งเชิงแสง (Optical Switch), อุปกรณ์ เพิ่มและกำจัดสัญญาณแสง (Optical Add/Drop Multiplexer), อุปกรณ์เชื่อมต่อวงจรแสง (Optical Cross-Connect) และอุปกรณ์ปรับและลดทอนกำลัง ของแสง (Variable Optical Attenuator) ฯลฯ

คาดการณ์มูลค่าเศรษฐกิจปีนี้ 7 พันล้านเหรียญ

อุปกรณ์เชื่อมต่อวงจรแสง และอุปกรณ์สวิตช์ชิง เชิงแสง โดยใช้เทคโนโลยีระบบไฟฟ้าเครื่องกลจุลภาค (MEMS-based Optical Cross-Connect and Optical Switch) โดย Lucent Technologies ในทางการแพทย์ และสาธารณสุข มีอุปกรณ์วัดความดันเลือด, อุปกรณ์การวิเคราะห์สารและ DNA ฯลฯ ในอุตสาหกรรมโรงงานมีอุปกรณ์วัดการไหล, อุปกรณ์วัดอุณหภูมิ, อุปกรณ์วัด ความชื้น และอุปกรณ์วัดชนิดของแก๊ส ฯลฯ ซึ่งอุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งสิ้น ดังนั้น การสนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัยและพัฒนา งานวิจัยทางด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์จึงมี ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นอกจากนี้ อุปกรณ์วัดความดันของไหลและอุปกรณ์วัดความชื้นเชิงพาณิชย์โดยใช้เทคโนโลยีระบบไฟฟ้า เครื่องกลจุลภาค อนาคตของเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าเครื่องกลจุลภาค การพัฒนาเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าเครื่องกล จุลภาคยังคงได้รับความสนใจอย่างสูงและต่อเนื่อง คาดว่าในปี ค.ศ. 2004 เทคโนโลยีระบบไฟฟ้าเครื่องกล จุลภาคจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกสูงถึง 7 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่ส่วนแบ่งทางการตลาด ของอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าเครื่องกลจุลภาคสูงสุดเป็นอุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รองลงมาเป็นอุปกรณ์ ตรวจวัดทางอุตสาหกรรมและยานยนต์ต่างๆ

MEMS เทคโนโลยีแห่งอนาคต



ขณะนี้จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้ถูกย่อขนาดให้เล็กลงไปเรื่อยๆ ทำให้เครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ มีขนาดเล็กลง ทำงานได้ รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้น (แถมยังมีราคาถูกลงในบางกรณี) แนวโน้มนี้สังเกตเห็นได้ชัดเจนจากขนาด และสมรรถนะของคอมพิวเตอร์ในระยะหลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีการพูดถึงการย่อลงไปจนถึงระดับนาโน อิเล็กทรอนิกส์ (Nanoelectronics) กันแล้ว

สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำจากอิเล็กโทร เซรามิกส์ก็มีแนวโน้มที่จะย่อขนาดลงไปเช่นเดียวกัน เช่น ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการขึ้นรูปอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบหลายชั้น (Multilayer Technology) ซึ่งสามารถใช้ ขึ้นรูปอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ตัวเก็บประจุเซรามิกส์แบบหลายชั้นซึ่งทำจากสารไดอิเล็กทริกเซรามิกส์ และ แอคชูเอเตอร์ซึ่งทำจากสารเพียโซ อิเล็กทริกเซรามิกส์ เป็นต้น ทิศทางหนึ่งที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับความสนใจ อย่างสูงคือ การจับคู่กันระหว่างไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Microelectronics) กับอุปกรณ์ไมโครแมคแคนิคัล (Micro Mechanical Devices) กลายเป็นระบบไมโครอิเล็กโทรแมคแคนิคัล (Micro-Electro Mechanical Systems : MEMS) นั่นคือ MEMS ซึ่งเปรียบเสมือน “สมองและเส้นประสาท” และ “แขนขา” ซึ่งจะต้องมีความ เชื่อมโยงกัน

ไทยยังช้ากว่าญี่ปุ่น 10 ปี ในการพัฒนา MEMS

เทคโนโลยีเมมส์ (MEMS) นั้นคือ รูปธรรมของอุปกรณ์ขนาดเล็กที่รวมระบบกลไกเข้ากับระบบวงจรรวมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมักนิยมผลิตเป็น Sensor ขนาดเล็กหรือ Mini Sensor เช่น เซนเซอร์วัดแรงกระแทกขนาดเล็กในถุงลมนิรภัย ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตชุดถุงลมนิรภัย มีราคาถูกลงกว่าการใช้เซนเซอร์สมัยก่อนมาก หรือ เซนเซอร์วัดแรงดัน เซนเซอร์วัดกำลังแม่เหล็ก แต่ปัจจุบันเมมส์ถูกนำมาใช้งานด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ใช้เป็นวาล์ว ขนาดจิ๋ว กระจกสะท้อนจิ๋ว หรือชุดวิเคราะห์สารเคมี และที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ก็คือ การนำเทคโนโลยีเมมส์มาใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ ฮาร์ดดิสก์ ซึ่งจะ เห็นว่า รุ่นใหม่ๆ นั้นมีขนาดเล็กลงมาก หรืออุปกรณ์ เครื่องพิมพ์หมึกพ่นที่มีความสามารถพ่นหมึกให้มี ขนาดเล็กมากๆ ช่วยให้ได้สีที่คมชัดขึ้น

ดร.อดิสร กล่าวว่า ถึงแม้ว่าการพัฒนาเรื่องของเมมส์ในเมืองไทยเพิ่งเริ่มต้นเมื่อไม่นานมานี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มต้นมาไม่น้อยกว่า 10 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันเราก็มี Concept และทิศทางในการทำงานวิจัยที่ค่อนข้างชัดเจน และเฉพาะเจาะจงลงไปเป็นผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้น เลย และอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ก็จัดได้ว่ามีความทันสมัย

การใช้เทคโนโลยีเมมส์นี้ จะช่วยให้เราสามารถ สร้างผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น ราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ซึ่งคงสรุปได้อย่างสั้นๆ ว่า เมมส์ เป็นเทคโนโลยีที่ผสมผสานความรู้และเทคโนโลยีจาก หลากหลายสาขา ทั้งทางด้านไฟฟ้า กลศาสตร์ วัสดุศาสตร์ การผลิตวงจรอิเล็กทรอนิกส์ โฟโตนิกส์ ฯลฯ ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น ทางด้านการแพทย์สาธารณสุข การสื่อสารโทรคมนาคม ฯลฯ

นำ Photonic technology ประยุกต์ร่วมสร้างผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ด้านอิเล็กทรอนิกส์ มักจะมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสาขาหนึ่งอยู่เสมอ คือ Photonic Techno-logy เป็นเทคโนโลยีทางด้านแสงที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง และการนำแสงมาใช้งาน ซึ่งจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับ เรื่องของฮาร์ดแวร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ดังจะเห็นได้ จากผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ จอ LCD คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอุตสาหกรรม ที่ประเทศไทยกำลังมุ่งมั่นที่จะเข้าสู่การแข่งขันในตลาดโลก

ดร.ศรันย์ สัมฤทธิ์เดชขจร นักวิจัยจาก NECTEC กล่าวถึงงานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางด้านนี้ว่า ขณะนี้นักวิจัยไทย สามารถนำเอาเทคนิคเกี่ยวกับแสง มาสร้างเป็นเซลล์เล็กๆ ระดับน้อยกว่าหนึ่งไมครอนแล้ว เพื่อควบคุมการทำงานของแสงให้เป็นไปตามความต้องการ แต่ปัจจุบันนี้ บุคลากรที่มีความสามารถในเทคโนโลยี ทางแสงของประเทศไทยยังมีน้อยมาก ในขณะที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ส่วนใหญ่มีการนำเทคโนโลยีแสงมาประยุกต์ใช้อย่างมากมาย เช่น เทคโนโลยีการสื่อสาร ที่ต้องอาศัย เรื่องของใยแก้วนำแสง และขณะนี้ ทีมนักวิจัยจาก เนคเทคก็กำลังทำการวิจัยเพื่อวิเคราะห์โพลิเมอร์เกี่ยวกับคุณสมบัติทางแสง เพื่อสร้างสารโพลิเมอร์ชนิดใหม่ที่มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น พร้อมๆ กับการพัฒนางานด้าน อิเล็กทรอนิกส์ เพราะงานทางด้านแสงจะไม่สามารถ ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการใช้งานได้โดยตรง กล่าวคือ ไม่สามารถทำงานได้ หากไม่มีตัวควบคุมทางด้าน อิเล็กทรอนิกส์

   

อีกทั้งขณะนี้ ดร.ศรันย์ ก็ได้จัดตั้งชมรมโฟโตนิกส์ ประเทศไทยขึ้น โดยประสานงานกับสมาคมเทคโนโลยี ทางด้านแสงกับหลายประเทศ และมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เยาวชนของไทยเห็นความสำคัญของเทคโนโลยี ทางด้านนี้ ซึ่งคาดว่าในอนาคตประเทศไทยน่าจะมี บุคลากรทางด้านนี้เพิ่มมากขึ้น

ประยุกต์นาโนเทคโนโลยีใช้กับการสร้างฟิล์มบางสารอินทรีย์

สำหรับการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอิเล็ก ทรอนิกส์นั้น นอกเหนือไปจากจะต้องอาศัยเทคโนโลยี ทางด้านแสงแล้ว เรื่องของฟิล์มบางยังเป็นอีกหนึ่ง ส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น จอภาพ OLED (Organic Light Emitting Diode) ที่เป็นจอ แสดงผลเรืองแสงขนาดเล็กบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ซึ่งฟิล์มบางชนิดโมเลกุลขนาดเล็กจากสารอินทรีย์ Alq3 บนสารกึ่งตัวนำผลึกขนาดนาโนเมตรนั้น จะช่วยให้อายุ การใช้งานของฟิล์มบางมีมากขึ้น ในอนาคตงานประยุกต์ เชิงอิเล็กทรอนิกส์ระดับนาโนเทคโนโลยี ต่อไปคงไม่ได้ อยู่บนผลึกซิลิคอนแบบเดิมๆ แล้ว หากแต่น่าจะพัฒนา เป็นอุปกรณ์โมเลกุล และ OLED ก็เป็นผลงานที่ออกสู่ เชิงพาณิชย์อยู่ในขณะนี้

ดร.จิติ หนูแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า OLED เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูก สามารถทำบนแผ่นวัสดุที่ โค้งงอได้ อย่างพลาสติก และที่สำคัญคือ ไม่มีสารพิษ เป็นส่วนประกอบ เนื่องจากผลิตจากสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายง่าย ถึงแม้ว่าอายุการใช้งานขณะนี้จะไม่ยาวนานเท่ากับซิลิคอน แต่ถ้าหากมองว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ มีอายุการใช้งานที่สั้น เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง ค่อนข้างรวดเร็ว

ขณะนี้ ทีมนักวิจัยไทยสามารถยืดอายุการใช้งาน ของฟิล์มบาง โดยนำเทคโนโลยีระดับนาโนมาใช้ในการ สร้างโครงสร้างแบบบ่อควอนตัม (Quantum Well) ซึ่ง เมื่อใช้หลอดซีนอนที่มีพลังงานโฟตอนที่สูงกว่ากระตุ้น ก็จะทำให้ฟิล์มบางชนิดโมเลกุลเปล่งแสงจากช่วงความยาวคลื่นแสงสีแดงไปถึงความยาวคลื่นแสงสีฟ้าได้ ตอนนี้ ผลวิจัยทำให้ได้อายุการใช้งานที่ 10,000 ชั่วโมง และ คาดว่าภายใน 1-2 ปีนี้จะสามารถทำการพัฒนา ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อแข่งขันกับสินค้าจาก ต่างประเทศได้

นำเทคโนโลยีสร้างงานวิจัยแบบบูรณาการ

สิ่งสำคัญของการทำการวิจัยและพัฒนา ก็คือเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งห้องวิจัย หลายแห่งในประเทศไทยยังคงมีความต้องการ ดังนั้น ในบางครั้งนักวิจัยจึงจำเป็นต้องทำการ วิจัยแบบเชื่อมโยงกันเพื่อแลกเปลี่ยนอุปกรณ์ ต่างๆ ที่มีร่วมกัน ตัวอย่างโครงการทำวิจัย เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเมมส์ในโครงการตรวจวัดสภาพแวดล้อมขนาดเล็ก โดยความร่วมมือของ NECTEC, TMEC, สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ได้ร่วมมือกัน จัดทำการวิจัย โดยมีการแบ่งการวิจัยออกเป็นส่วนต่างๆ ตามความเชี่ยวชาญและอุปกรณ์ที่หน่วยงาน ต่างๆ มีอยู่ เช่น มหาวิทยาลัยสุรนารี ทำการสร้างเซ็นเซอร์สำหรับวัดความชื้น NECTEC สร้างเซ็นเซอร์วัดปริมาณ แก๊ส บริษัท ซิลิกอน คราฟ จำกัด จัดทำวงจรประมวลผล และการส่งข้อมูล เป็นต้น

การทำวิจัยลักษณะข้างต้น ดร.อดิศร กล่าวว่า เป็นการขยายเครือข่ายในการทำงานวิจัย เพราะเครื่องมือที่ใช้ในการทำงานวิจัยทางด้านนี้มีค่อนข้างจำกัด และมี ราคาค่อนข้างสูง ในบ้านเรายังไม่สามารถที่จะมีเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ในทุกๆ มหาวิทยาลัยได้ การเข้ามาทำงานร่วมกัน ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษา จะช่วยให้เกิดการออกแบบและกระบวนการสร้าง เพื่อออกมา เป็นอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์ ได้รวดเร็วขึ้น



Dr.Don Eigler, IBM Almaden Research Center ร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. จัดเรียงคาร์ลอนมอน็อกไซด์ (CO) จำนวน 50 โมเลกุล เขียนตัวอักษรลงบนผิวโลหะทองแดง (CU) เป็นพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. มีขนาดความยาว 14 นาโนเมตร สูง 7 นาโนเมตร ตัวอักษร ภ (17 โมเลกุล), ป (18 โมเลกุล) และ ร (15 โมเลกุล)

ความก้าวหน้าในโลกวิทยาการ ยังคงรุดหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง แต่หากมองย้อนกลับไป ว่าความก้าวหน้า ดังกล่าวเกิดขึ้นก็มีสาเหตุมาจากความต้องการที่จะ ตอบสนองการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น ของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นถึงแม้ว่าความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะก้าวไปอย่างไร ในทิศทางใดก็ตาม อุตสาหกรรมยังคงเป็นเสมือนล้ออีกด้านที่จะ ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ฉะนั้นนอกเหนือไปจากการสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว การสนับสนุนด้านอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ควบคู่กันไป
ที่มา :thai-inter

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น